Tsushima, Battle of (1905)

ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ (พ.ศ. ๒๔๔๘)

ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะหรือที่ฝ่ายญี่ปุ่นเรียกว่ายุทธนาวีแห่งทะเลญี่ปุ่น(Sea of Japan Naval Battle) เป็นการรบทางทะเลครั้งใหญ่และสำคัญระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๕)* ระหว่างวันที่ ๒๗–๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ที่ช่องแคบสึชิมะซึ่งอยู่ระหว่างเกาหลีกับทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เป็นการยุทธ์ที่ทั้ง ๒ ฝ่ายกำลังเท่าเทียมกัน แต่ญี่ปุ่นใช้ยุทธวิธีที่เหนือกว่า รวมทั้งมีวิทยุโทรเลข (wireless telegraphy) ซึ่งสามารถผลิตได้เองในประเทศในการติดต่อสื่อสาร ขณะที่รัสเซียใช้เครื่องวิทยุโทรเลขที่ผลิตในเยอรมนีซึ่งมีปัญหาในการใช้และการดูแลรักษา ญี่ปุ่นจึงได้เปรียบและมีชัยชนะในการรบ ความพ่ายแพ้ของรัสเซียในยุทธนาวีครั้งนี้ส่งผลสะเทือนต่อสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองภายในประเทศเพราะมีส่วนทำให้กระแสการต่อต้านรัฐบาลและซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔–๑๙๑๗)* ขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕ (Russian Revolution of 1905)* ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะมีความสำคัญเท่ากับยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์ (Battle of Trafalgar)* ในช่วงสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๕)* ที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านของสงคราม เพราะทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางทะเลเช่นเดียวกับอังกฤษจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙–๑๙๔๕)* ส่วนรัสเซียสูญเสียเกียรติภูมิและสถานภาพทางทะเลลดลงจนอยู่ในระดับเดียวกับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)*

 ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะเป็นส่วนหนึ่งของสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นในการแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจในตะวันออกในต้นค.ศ. ๑๙๐๐เมื่อรัสเซียส่งกองทหารเข้ายึดครองแมนจูเรีย และขยายอำนาจเข้าไปมีอิทธิพลในจีนและยึดครองเกาหลี ญี่ปุ่นพยายามคานอำนาจรัสเซียด้วยการทำสนธิสัญญาพันธมิตรอังกฤษ-ญี่ปุ่น (Anglo-Japanese Alliance) ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ มีผลให้รัสเซียยอมตกลงกับญี่ปุ่นที่จะถอนกำลังทหารออกจากแมนจูเรียภายในเวลา ๑๘ เดือน แต่ต่อมารัสเซียยกเลิกการถอนกำลังทหารที่เหลือด้วยข้ออ้างว่าปัญหาการเมืองภายในแมนจูเรีย ทำให้ปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ได้จนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นปรกติ ขณะเดียวกันรัสเซียเสริมกำลังเพิ่มขึ้นที่เมืองท่าปอร์ตอาร์เทอร์ (Port Arthur) บนคาบสมุทรเหลียวตง (Liaodong) ซึ่งรัสเซียเช่าจากจีน และเริ่มเสริมกำลังทางเรือในน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ ญี่ปุ่นเปิดการเจรจากับรัสเซียอีกครั้งและเสนอเงื่อนไขให้รัสเซียครอบครองแมนจูเรียเหนือและญี่ปุ่นครอบครองแมนจูเรียใต้รวมทั้งเกาหลีด้วย แต่รัสเซียเพิกเฉยต่อข้อเสนอดังกล่าว ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ญี่ปุ่นจึงประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซีย อีก ๓ วันต่อมา ในคืนวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ พลเรือเอกโทโง เฮฮะชิโร (Tōgō Heihachirō) ผู้บัญชาการกองเรือรบหลวงญี่ปุ่นก็เปิดฉากสงครามด้วยการส่งเรือประจัญบานยิงตอร์ปิโดโจมตีกองเรือรัสเซียที่ปอร์ตอาร์เทอร์และนำไปสู่ยุทธนาวีที่ปอร์ตอาร์เทอร์ (Battle of Port Arthur) ระหว่างวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ถึงวันที่ ๑๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๔ ขณะเดียวกัน ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ญี่ปุ่นก็ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงตกตะลึงกับข่าวการโจมตีของญี่ปุ่นอย่างมากเพราะไม่ทรงคาดว่าญี่ปุ่นจะกล้าจุดชนวนสงคราม ทรงพิโรธและให้ตอบโต้ทันที รัสเซียจึงประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์

 ในระยะแรกของยุทธนาวีที่ปอร์ตอาร์เทอร์ แม้ญี่ปุ่นจะไม่สามารถทำลายฐานทัพเรือรัสเซียได้เนื่องจากทหารปืนใหญ่ประจำชายฝั่งปกป้องอย่างทรหดแต่ญี่ปุ่นก็ควบคุมน่านน้ำได้เพราะกองเรือรัสเซียถูกปิดล้อมไม่สามารถแล่นออกสู่ทะเล หลังการควบคุมน่านน้ำได้ ญี่ปุ่นเริ่มยกพลขึ้นบกที่เมืองเจมุลโป [Chemulpo ปัจจุบันคือเมืองอินชอน (Inchon)] บนคาบสมุทรเกาหลี ในเวลาอันรวดเร็วก็สามารถยึดครองพื้นที่ทั้งหมดของเกาหลีได้ จากนั้นญี่ปุ่นบุกข้ามแม่น้ำยาลู (Yalu) เข้าไปยังแมนจูเรียในส่วนที่รัสเซียยึดครอง กองทหารรัสเซียไม่สามารถต้านทานการบุกของญี่ปุ่นได้และถอยร่นไปยังเมืองท่าปอร์ตอาร์เทอร์ ญี่ปุ่นจึงเคลื่อนกำลังเข้ายึดครองคอคอดหนานชาน (Nanshan) ซึ่งควบคุมเส้นทางทะเลไปสู่คาบสมุทรเหลียวตงและเมืองท่าปอร์ตอาร์เทอร์ ในยุทธการที่หนานชาน (Battle of Nanshan) เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ ญี่ปุ่นมีชัยชนะต่อรัสเซียและยึดหนานชานได้ จากนั้นกองทหารญี่ปุ่นได้รุกคืบหน้าจนเข้ายึดเมืองดาลนี [(Dalny) ปัจจุบันคือเมืองต้าเหลียน (Dalian)] ที่คาบสมุทรเหลียวตงได้ และใช้เมืองดาลนีเป็นฐานกำลังเตรียมบุกปอร์ตอาร์เทอร์

 ในช่วงที่ปอร์ตอาร์เทอร์ถูกปิดล้อมกองเรือรัสเซียแปซิฟิกที่ ๑ (First Russian Pacific Squadron) ซึ่งมีพลเรือโท มาคารอฟ (Makarov) เป็นผู้บัญชาการพยายามตีฝ่าการปิดล้อมของญี่ปุ่นและสามารถนำเรือรบเปโตรปัฟลอฟสค์ (Petropavlovsk) และเรือธงโปเบดา (Pobeda) หนีออกจากอ่าวเกาหลีได้ แต่ในวันที่ ๑๒ เมษายน เรือทั้ง ๒ ลำชนทุ่นระเบิดที่ญี่ปุ่นวางไว้บริเวณปากอ่าว เรือรบเปโตรปัฟลอฟสค์อับปางและพลเรือโท มาคารอฟเสียชีวิต ส่วนเรือธงโปเบดาเสียหายหนัก แต่สามารถแล่นหลบหนีกลับไปปอร์ตอาร์เทอร์ได้ ต่อมา ในเดือนสิงหาคมกองเรือรัสเซียและกองเรือญี่ปุ่นปะทะกันในยุทธนาวีแห่งทะเลเหลือง (Battle of the Yellow Sea) แม้ยุทธนาวีครั้งนี้จะถือว่าเสมอกันเพราะไม่มีเรือรบของฝ่ายใดถูกยิงจมสู่ก้นทะเล แต่เรือรัสเซียก็เสียหายไม่น้อยและต้องหันหัวกลับไปยังฐานที่ปอร์ตอาร์เทอร์ เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงทราบข่าวจึงสั่งให้กองเรือรัสเซียแปซิฟิกที่ ๒ (Second Russian Pacific Squadron) จากฐานทัพเรือในทะเลบอลติกมาเสริมกำลังทางเรือที่ปอร์ตอาร์เทอร์

 ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นโหมบุกภาคพื้นดินและในปลายเดือนสิงหาคมก็สามารถขับรัสเซียออกจากมุกเดน [(Mukden) ปัจจุบันคือเมืองเฉิ่นหยาง (Shenyang)] ได้ หลังมีชัยชนะต่อกองทัพรัสเซียที่มุกเดน ญี่ปุ่นทุ่มกำลังเข้าโจมตีปอร์ตอาร์เทอร์ด้วยการวางแผนบุกโจมตีอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดโดยประสานการรบระหว่างกองกำลังภาคพื้นดินกับทางทะเล การบุกโจมตีเกิดขึ้นในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ รัสเซียไม่อาจต้านการโจมตีไว้ได้ ผู้บัญชาการกองทหารประจำป้อมที่ปอร์ตอาร์เทอร์จึงตัดสินใจยอมจำนนโดยไม่ปรึกษาผู้บัญชาการระดับสูง ปอร์ตอาร์เทอร์จึงถูกญี่ปุ่นยึดครองในวันที่ ๒ มกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ เมื่อข่าวความพ่ายแพ้ของกองเรือรัสเซียที่ปอร์ตอาร์เทอร์มาถึงรัสเซีย กระแสการต่อต้านรัฐบาลและสงครามก็ขยายตัวมากขึ้นและนำไปสู่เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในเวลาต่อมา

 ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังวางแผนรบทั้งทางภาคพื้นดินและทางทะเลอยู่นั้น กองเรือรัสเซียแปซิฟิกที่ ๒ ที่ฐานทัพในทะเลบอลติกซึ่งมีนายพลซีโนวี รอเจสต์เวนสกี (Zinovy Rozhestvensky) เป็นผู้บัญชาการก็เริ่มออกเดินทางมาตะวันออกไกลในกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ การที่ล่าช้ามากเช่นนี้เป็นเพราะต้องคอยเรือประจัญบานใหม่ ๔ ลำที่จะบรรจุเข้าประจำการรวมเป็นกองเรือขนาดใหญ่ ๕๐ ลำ แต่ก็เป็นกองเรือที่ไม่สมบูรณ์เพราะเรือบางลำเก่าเกินไปทั้งเรือใหม่ก็ยังทดสอบไม่ครบตามมาตรฐาน นอกจากนี้ ทหารประจำเรือจำนวนไม่น้อยยังขาดประสบการณ์ ทหารชั้นประทวนและพลทหารที่เป็นกะลาสีก็เกณฑ์มาจากชาวนา ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือเรือต้องบรรทุกถ่านหินเป็นจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอกับการเดินทางระยะไกล ๒๘,๙๖๘ กิโลเมตร สนธิสัญญาพันธมิตรอังกฤษ-ญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๙๐๒ ทำให้สถานีถ่านหินต่าง ๆ ของอังกฤษตามเส้นทางเดินเรือปฏิเสธการเทียบท่าของเรือรบรัสเซีย ส่วนประเทศที่เป็นกลางก็มีกฎหมายระหว่างประเทศควบคุมการให้ความช่วยเหลือแก่เรือรบของประเทศคู่สงคราม อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างลับ ๆ กับรัสเซียตามสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ (Dual Alliance 1894)* หรือสนธิสัญญาพันธไมตรีฝรั่งเศส-รัสเซีย (Franco-Russian Alliance) ได้แอบให้ความช่วยเหลือแก่กองเรือรัสเซียให้แวะเติมเชื้อเพลิงตามเมืองท่าต่าง ๆ เท่าที่โอกาสจะอำนวยโดยทั่วไปการเติมเชื้อเพลิงจึงต้องกระทำกันในทะเลและต้องบรรทุกถ่านหินให้ได้มากที่สุดทุกซอกทุกมุมของเรือ จึงทำให้มีเนื้อที่น้อยมากสำหรับลูกเรือทั้งยังทำให้มีน้ำหนักมากซึ่งมีส่วนทำให้การบังคับเรือยากลำบากขึ้น ก่อนกองเรือรัสเซียออกเดินทางจากฐานทัพเรือในอ่าวฟินแลนด์นายพลรอเจสต์เวนสกีได้รับพระราชสาสน์จากซาร์นิโคลัสที่ ๒ ให้เข้าจัดการสั่งสอนพวกญี่ปุ่นที่อวดดีให้รู้สำนึก

 กองเรือรัสเซียแปซิฟิกที่ ๒ ใช้เส้นทางแล่นอ้อมแหลมกู๊ดโฮปเนื่องจากไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านคลองสุเอซ (Suez) ได้เพราะอังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นควบคุมอยู่ เมื่อแล่นมาถึงทะเลเหนือบริเวณด็อกเกอร์แบงก์ (Dogger Bank) เรือรัสเซียพบเรือจับปลาของอังกฤษท่ามกลางหมอกและเข้าใจผิดว่าเป็นเรือรบญี่ปุ่น จึงเปิดฉากระดมยิงทันทีจนเรือจับปลาจมไป ๑ ลำและอีกหลายลำเสียหายหนัก รัสเซียถูกบังคับให้ขอโทษอย่างเป็นทางการและชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก เมื่อเรื่องดังกล่าวเป็นข่าวกองเรือรัสเซียจึงถูกล้อเลียนว่าเป็น “กองเรือหมาบ้า” ตลอดเส้นเดินทางซึ่งใช้เวลาเกือบ ๙ เดือน สื่อมวลชนประเทศต่าง ๆ ได้คอยติดตามเสนอข่าวเป็นระยะ ๆ

 ในกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ เมื่อกองเรือรัสเซียแปซิฟิกที่ ๒ เดินทางมาถึงเกาะมาดากัสการ์ (Madagascar) ก็ได้ข่าวว่าปอร์ตอาร์เทอร์กำลังจะเพลี่ยงพล้ำต่อกองทัพภาคพื้นดินญี่ปุ่นและกองเรือรบรัสเซียที่ปอร์ตอาร์เทอร์ก็ถูกระดมยิงเสียหายหนัก ข่าวดังกล่าวทำให้นายพลรอเจสต์เวนสกีตระหนักว่าการเดินทางอ้อมโลกมาครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อช่วยปอร์ตอาร์เทอร์เท่านั้นแต่เพื่อรบกับกองทัพเรือญี่ปุ่นเขาจึงตัดสินใจนำกองเรือมุ่งหน้าไปเมืองวลาดิวอสตอค (Vladivostok) ฐานทัพเรือแห่งสุดท้ายของรัสเซียในตะวันออกไกลที่ยังเหลืออยู่ ขณะที่เตรียมตัวออกจากมาดากัสการ์ก่อนถึงวันคริสต์มาส รอเจสต์เวนสกีได้รับคำสั่งให้รอกองเรือรัสเซียแปซิฟิกที่ ๓ (Third Russian Pacific Squadron)มาสมทบแต่เขากลับปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามเพราะเห็นว่ากองเรือรัสเซียแปซิฟิกที่ ๓ เป็นกองเรือรบที่ไม่เข้มแข็งและมีแต่เรือรบเก่าที่มีอายุใช้การเป็นเวลานาน ซึ่งจะเป็นภาระแก่เขา เมื่อรัฐบาลรัสเซียยืนยันคำสั่งเดิม รอเจสต์เวนสกีจึงขอลาออกจากตำแหน่งแต่ไม่ได้รับอนุมัติจากทางการจนกว่าเขาจะได้รบกับกองเรือญี่ปุ่นก่อน กองเรือรัสเซียแปซิฟิกที่ ๒ จึงต้องรอกองเรือรัสเซียแปซิฟิกที่ ๓ จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๕

 ในการเดินทางไปยังวลาดิวอสตอคนั้น มีเส้นทางเดินเรือ ๓ เส้นทาง แต่เส้นทางตรงที่สั้นที่สุดและอันตรายที่สุดคือเส้นทางที่ต้องผ่านช่องแคบสึชิมะที่อยู่ระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น ทั้งยังใกล้กับญี่ปุ่นด้วยอย่างไรก็ดีนายพลรอเจสต์เวนสกีจำต้องเลือกเส้นทางนี้เพราะกองเรือมีถ่านหินเหลือน้อยและสามารถแล่นข้ามไปทางเหนือของญี่ปุ่นได้ง่าย พลเรือเอก โทโงก็คาดว่ารัสเซียจะต้องผ่านทางช่องแคบสึชิมะแน่นอนเขาจึงวางกำลังเรือรบ ๑๖ ลำเพื่อปิดทางเข้าช่องแคบกองเรือรัสเซียเลือกใช้แผนเคลื่อนตัวหลังเที่ยงคืนซึ่งมีหมอกลงหนาเพื่อช่วยบดบังทัศนวิสัยของศัตรูเรือตรวจการณ์ของญี่ปุ่นจะไม่สามารถดักจับได้และกองเรือรัสเซียก็จะสามารถแล่นผ่านช่องแคบไปได้อย่างไรก็ตาม ในเวลาประมาณ ๐๒.๔๕ นาฬิกา เรือลาดตระเวนญี่ปุ่นได้เห็นแสงไฟเดินเรือของเรือลำหนึ่งในระยะไกลแต่ไม่ทราบว่าเป็นของฝ่ายใด จวบจนราว ๐๕.๐๐ นาฬิกา ท้องฟ้าเริ่มสว่างขึ้นก็พบว่าเป็นเรือพยาบาลของรัสเซียที่ไม่ติดอาวุธ เมื่อหมอกจางลงก็เห็นขบวนเรือรบรัสเซียอีกกว่า ๑๐ ลำ ในระยะทางไม่ถึงกิโลเมตร เรือลาดตระเวนจึงรีบแจ้งไปให้พลเรือเอก โทโง ทราบทันที

 ยุทธการที่ช่องแคบสึชิมะเริ่มขึ้นในเช้าตรู่ของวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ กองเรือรบญี่ปุ่นซึ่งมีความเร็วสูงและทันสมัยทราบความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัสเซียทุกระยะทางทางวิทยุสื่อสารก็เริ่มแล่นติดตามกองเรือรัสเซียตั้งแต่ ๐๖.๓๔ นาฬิกา ด้วยความเร็ว ๑๕ นอตหรือ ๒๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ขณะที่รัสเซียใช้ความเร็ว ๒๖ กิโลเมตรต่อชั่วโมง)ต่อมาในเวลาประมาณ ๑๓.๔๐ นาฬิกา เรือลาดตระเวนญี่ปุ่น ๔๐ ลำก็เผชิญหน้าและแล่นขนานกันกับกองเรือรัสเซียนายพลรอเจสต์เวนสกีจึงออกคำสั่งให้เรือรบแล่นตามกันเป็นแถวเดียวซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ที่ต้องใช้เวลามาก เรือรบรัสเซียลำหนึ่งเปิดฉากระดมยิงทันทีโดยไม่รอคำสั่งจากผู้บัญชาการเรือ เรือลำอื่น ๆ ก็ยิงออกไปด้วย การระดมยิงทำให้เรือรบญี่ปุ่นรีบถอยห่างให้พ้นวิถีกระสุน ทหารรัสเซียจึงมีกำลังใจมากขึ้นเพราะคิดว่าญี่ปุ่นกลัว ขณะเดียวกัน ในวันนั้นเป็นวันครบรอบการขึ้นครองสิริราชสมบัติปีที่ ๙ ของซาร์นิโคลัสที่ ๒ พอดี เหล่าทหารจึงนำเหล้าวอดกามาเลี้ยงฉลองกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน รอเจสต์เวนสกีก็สั่งให้กองเรือแปรขบวนเป็นหน้ากระดานอีกแต่ขณะจัดขบวนได้เพียงครึ่งเดียว เรือลาดตระเวนญี่ปุ่นก็ปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่งนายพลรอเจสต์เวนสกีก็สั่งให้จัดขบวนแล่นตามกันอีกครั้งซึ่งทำให้เกิดความสับสน กองเรือแล่นเป็น ๒ แถวขนานกันไปโดยแถวขวานำหน้าไปเล็กน้อยแต่ก็หลบไม่พ้นแนวปืนของอีกแถวหนึ่ง

 กองเรือรบญี่ปุ่นได้เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้กองเรือรัสเซียอีกครั้งและพยายามสกัดกั้นกองเรือรัสเซีย โดยแล่นขวางกองเรือฝ่ายศัตรู กองเรือญี่ปุ่นเข้ารบทางด้านเหนือลมเพื่อไม่ให้ควันปืนปิดบังการดูเรือฝ่ายตรงข้ามและเพื่อให้ควันลอยไปปะทะเรือศัตรู ตลอดช่วงของการรบญี่ปุ่นสื่อสารกันด้วยวิทยุโทรเลขซึ่งญี่ปุ่นได้พัฒนาจนสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การโจมตีเป็นไปอย่างมีเอกภาพ ขณะที่รัสเซียมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เพราะผู้ควบคุมเครื่องวิทยุโทรเลขไม่สันทัดกับเครื่องมือนี้ที่ผลิตในเยอรมนี ทั้งบางเครื่องก็ใช้การไม่ได้เพราะขาดการดูแลรักษา เมื่อกองเรือรบของทั้ง ๒ ฝ่ายอยู่ในรัศมีกระสุน รัสเซียระดมยิงก่อนและกระสุนยิงถูกเรือญี่ปุ่น ๕ ลำซึ่งได้รับความเสียหายหนัก ในช่วงแรกของการโจมตีนี้ หากกองเรือรัสเซียสามารถหลบไปทางด้านหลังกองเรือญี่ปุ่น และสาดกระสุนเข้าตรงจุดที่อ่อนแอที่สุดทางด้านหลัง ก็อาจหลุดออกจากกับดักของญี่ปุ่นได้ แต่รัสเซียกำลังงุนงงกับการเลี้ยววกกลับของกองเรือญี่ปุ่นจึงไม่เร่งเคลื่อนตัวหนี นอกจากนี้ กองเรือรัสเซียแปซิฟิกที่ ๓ ซึ่งอยู่ขบวนหลังและเป็นกองเรือรบรุ่นเก่าก็ไม่กล้ายิงเรือญี่ปุ่นอย่างเต็มที่เพราะเกรงว่ากระสุนจะพลาดถูกพวกเดียวกัน เรือธงซูโวรอฟ (Suvorov) ของรัสเซียซึ่งเป็นเรือรบสมัยใหม่ก็ไม่สามารถเร่งความเร็วตามพิกัดของเรือที่ระบุไว้จึงแล่นตามเรือรบญี่ปุ่นไม่ทันกองเรือญี่ปุ่นซึ่งสามารถเร่งความเร็วได้สูงกว่าจึงแล่นขึ้นมาถึงหน้าแถวของกองเรือรบรัสเซีย

 ท้ายที่สุด เรือรบญี่ปุ่นทุกลำก็ระดมยิงเรือรัสเซียพร้อมกัน รัสเซียสูญเสียเรือประจัญบานออสลาบา (Oslyabya) และเรือธงซูโวรอฟก็เสียหายหนักเพราะกระสุนเข้าเป้าบนเรือทำให้ทหารบนเรือส่วนใหญ่เสียชีวิต ต่อมา ในเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ นาฬิกา เรือธงซูโวรอฟถูกกระสุนปืนใหญ่ใกล้หอบังคับการ พลเอกรอเจสต์เวนสกีและกัปตันบาดเจ็บสาหัส แต่ในเวลาอันรวดเร็วก็ได้รับความช่วยเหลือจากเรือพิฆาตบูอินี (Buiny) หลังจากนั้นไม่นานนัก เรือธงซูโวรอฟถูกยิงจมลงก้นทะเล ในคืนของวันที่ ๒๗ พฤษภาคม เวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา เรือตอร์ปิโดญี่ปุ่นกว่า ๓๗ ลำแล่นพุ่งเข้าหากองเรือรัสเซียเหมือนฉลามร้ายเข้าโจมตีเหยื่อและยิงตอร์ปิโดถล่มใส่อย่างไม่ยั้ง พร้อม ๆ กับการจู่โจมของเรือพิฆาตอีก ๒๑ ลำ ทำให้เรือประจัญบานรัสเซีย ๒ ลำ ซึ่งรวมทั้งเรือพิฆาตนาวาริน (Navarin) ที่มีทหารเรือประจำการจำนวน ๖๒๒ นายเสียชีวิตเกือบหมด ยกเว้นเพียง ๓ นายที่เรือญี่ปุ่นช่วยชีวิตไว้เรือประจัญบานออสลาบาของรัสเซียและมีเรือลาดตระเวนรัสเซียอีก ๒ ลำถูกยิงจมลงสู่ก้นทะเล และอีกจำนวนไม่น้อยได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่วนญี่ปุ่นสูญเสียเรือตอร์ปิโดเพียง ๓ ลำเท่านั้น

 ในเช้าวันที่ ๒๘ พฤษภาคม กองเรือรบรัสเซียที่เหลือรอดต่างมุ่งหน้าหนีขึ้นเหนือไปยังเมืองวลาดิวอสตอค ขณะเดียวกัน เรือพิฆาต ๒ ลำของญี่ปุ่นก็ไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิด และมีเพียงเรือลาดตระเวน ๑ ลำและเรือพิฆาต ๒ ลำเท่านั้นที่หนีรอดไปได้เรือพิฆาตบูอินีถูกยิงจมลง ก่อนหน้าการถูกโจมตี มีการย้ายพลเอก รอเจสต์เวนสกีไปอยู่บนเรือพิฆาตลำใหม่ซึ่งแล่นหนีช้ากว่าเรือลำอื่น ๆ เพราะเกรงว่าบาดแผลของรอเจสต์เวนสกีจะได้รับความกระทบกระเทือนจนเสียชีวิตได้ เมื่อเรือญี่ปุ่นแล่นตามทัน เรือพิฆาตก็ยอมยกธงขาว ญี่ปุ่นจึงยึดเรือไว้ได้และส่งพลเอกรอเจสต์เวนสกีไปรักษาตัวที่ญี่ปุ่น ส่วนพลเรือเอกเนโบกาตอฟ (Nebogatov) ซึ่งทำหน้าที่บัญชาการแทนรอเจสต์เวนสกีก็ตระหนักว่าหากยังสู้รบต่อไปรัสเซียจะเป็นฝ่ายสูญเสียมากขึ้น ดังนั้นเพื่อรักษาชีวิตทหารและลูกเรือ เนโบกาตอฟจึงตัดสินใจยอมแพ้และให้ยกธงขาวต่อมา เมื่อรอเจสต์เวนสกีและเนโบกาตอฟเดินทางกลับรัสเซีย ศาลทหารพิจารณาคดีคนทั้งสองในข้อหายอมแพ้ศัตรูแต่ไม่ตัดสินประหารเขาดังที่ทุกคนคิดไว้ รอเจสต์เวนสกียอมรับความผิดและสู้คดีว่าในช่วงสุดท้ายของการรบ เขาบาดเจ็บสาหัสและไม่รู้สึกตัวในเวลาขณะนั้นเขาจึงถูกปลดจากประจำการส่วนเนโบกาตอฟถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาหลายปีและในเวลาต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษจากซาร์ นิโคลัสที่ ๒ อย่างไรก็ตาม นายทหารทั้ง ๒ คนต่างก็สูญเสียชื่อเสียงและเกียรติยศ

 ในยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ รัสเซียเป็นฝ่ายเสียหายอย่างหนัก เรือรบ ๑๗ ลำ จมลงก้นทะเล ๗ ลำ ถูกยึดและที่เหลือถูกปลดอาวุธ มีเพียงเรือลาดตระเวน ๑ ลำ และเรือพิฆาต ๒ ลำ หนีกลับไปวลาดิวอสตอคได้ผู้บังคับการเรือและทหาร ๔,๕๐๐ นายเสียชีวิต เกือบ ๖,๐๐๐ นายถูกจับเป็นเชลย รัสเซียสูญเสียสถานภาพทางทะเลและความเข้มแข็งของกองทัพเรือลดลงไปอยู่ในระดับเดียวกันกับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ส่วนญี่ปุ่นเสียเรือตอร์ปิโด ๓ ลำ จาก ๖๔ ลำ และมีทหารบาดเจ็บ ๕๐๐ นาย และเสียชีวิตเพียง ๑๑๗ นาย เท่านั้นชัยชนะของญี่ปุ่นเปิดทางให้ญี่ปุ่นสถาปนาอำนาจทางทหารและดำเนินนโยบายทางการเมืองที่ก้าวร้าวในการขยายอำนาจและอิทธิพลในตะวันออกไกล ทั้งยังกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลอันดับต้น ๆ ในเวลาต่อมา ญี่ปุ่นยังได้ชื่อเสียงในฐานะเป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่มีชัยชนะเหนือประเทศมหาอำนาจตะวันตกและทำให้แนวความคิด “ความเหนือกว่าของคนผิวขาว” (white supremacy) ที่ยอมรับกันมานานในโลกตะวันตกสั่นคลอน ขณะเดียวกัน ชัยชนะของญี่ปุ่นก็ทำให้อังกฤษตระหนักถึงความสำคัญของปืนใหญ่และความเร็วของเรือรบสมัยใหม่ รวมทั้งการมีอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อังกฤษจึงเริ่มสร้างเรือประจัญบานขนาดใหญ่ทันสมัยที่เรียกว่าเดรดนอต (Dreadnought)* เพื่อเพิ่มแสนยานุภาพทางทะเลซึ่งนำไปสู่การแข่งขันสะสมกำลังทางทะเลในเวลาต่อมา

 ความพ่ายแพ้ของรัสเซียที่ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะนอกจากจะทำลายศักดิ์ศรีของรัสเซียแล้ว ยังส่งผลสะเทือนต่อสถานการณ์สังคมและการเมืองภายในประเทศ เพราะทำให้กระแสต่อต้านรัฐบาลและซาร์นิโคลัสที่ ๒ ขยายตัวมากขึ้น กลุ่มการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitution Democratic Party) หรือพรรคคาเดตส์ (Kadets) ซึ่งมีปาเวล มิลยูคอฟ (Pavel Milyukov)* เป็นผู้นำเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปประเทศและต่อต้านเรื่องการทำสงครามต่อไป ในเวลาเดียวกันทหารและกะลาสีที่ประจำการในเรือรบโปเตมกินซึ่งออกลาดตระเวนในทะเลดำก็ก่อการจลาจลขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า กบฏโปเตมกิน (Potemkin Mutiny)* ความวุ่นวายภายในประเทศดังกล่าวส่งผลให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ซึ่งทรงมุ่งมั่นที่จะทำสงครามต่อเริ่มเปลี่ยนพระทัยและในเวลาต่อมา ทรงยอมรับเรื่องการเจรจาสันติภาพกับญี่ปุ่น ซึ่งทำให้สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นยุติลงในท้ายที่สุด.



คำตั้ง
Tsushima, Battle of
คำเทียบ
ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ
คำสำคัญ
- กบฏโปเตมกิน
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕
- เดรดนอต
- นิโคลัสที่ ๒, ซาร์
- มิลยูคอฟ, ปาเวล
- ยุทธการที่หนานชาน
- ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ
- ยุทธนาวีที่ปอร์ตอาร์เทอร์
- ยุทธนาวีที่แหลมทราฟัลการ์
- ยุทธนาวีแห่งทะเลญี่ปุ่น
- ยุทธนาวีแห่งทะเลเหลือง
- เรือประจัญบานออสลาบา
- วันอาทิตย์นองเลือด
- สงครามนโปเลียน
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาพันธมิตรอังกฤษ-ญี่ปุ่น
- สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี
- สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔
- สนธิสัญญาพันธไมตรีฝรั่งเศส-รัสเซีย
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1905
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๔๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-